Thalassoethnography

ที่ไหน คือ อย่างไร : ว่าด้วยภววิทยาของสนามใต้ท้องทะเล
นักมานุษยวิทยามักถูกถามว่าทำงานภาคสนามที่ไหน มุมมองภาคสนามที่มีฐานคิดเชิงพื้นที่ ทำให้สนามกลายเป็นสิ่งที่อยู่ที่นั่น ซึ่งรอคอยให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปทำงาน และอธิบายลักษณะของมันผ่าน "งาน" ของนักมานุษยวิทยา
บทสนทนานี้จะชวนกลับมาทบทวนแนวคิดว่าด้วยงานภาคสนามเสียใหม่ และย้ายความสนใจจาก "งาน" ไปสู่ "สนาม" โดยมองสนามไม่ใช่เป็นพื้นที่แต่เป็นความสัมพันธ์ ผ่านการตั้งคำถามว่าสนามเป็นอย่างไร มันประกอบขึ้นมาอย่างไร จากอะไร ในความสัมพันธ์รูปแบบไหน จุดสนใจของงานภาคสนามไม่ใช่การสนใจแต่เพียง "งาน" ของนักมานุษยวิทยาในสนามเท่านั้น หากแต่ต้องตั้งคำถามพื้นฐานว่าจริง ๆ แล้ว "สนาม" ที่กำลังเข้าไปนั้น มันมีภววิทยาในลักษณะอย่างไรด้วย
บทสนทนานี้จะหยิบยกสนามของการทำงานสนามใต้ท้องทะเล ผ่านการทำความเข้าใจวัตถุภาวะเชิงผัสสารมณ์ (affective materiality) มาเป็นตัวอย่างของการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณาว่าด้วยความเป็นท้องทะเล บทสนทนานี้เสนอว่า ไม่ต่างจากความเป็นสังคม ซึ่งไม่อาจอนุมานเอาได้ งานภาคสนามจึงเป็นการทำความเข้าใจภววิทยาของสนามที่ต้องการอธิบายสนามในฐานะกิริยาของการประกอบร่วมและการดำรงอยู่ของมัน

Wreck Diving: ดำดิ่งสู่โลกที่อับปาง และสรรพางค์ของการฟื้นคืนชีวิต
ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ผมมีโอกาสได้กลับไปสู่อ้อมกอดของท้องทะเลอีกครั้ง จุดมุ่งหมายของการหวนกลับสู่ห้วงผืนน้ำสีฟ้าอันกว้างใหญ่นี้ คือการเรียนทักษะในการดำน้ำลึกแบบสกูบาขั้นสูง (advanced open water scuba diving) สถานที่ที่เราใช้ฝึกทักษะการดำน้ำที่ว่านี้คือ จุดซากเรืออับปาง (wreck diving) ซึ่งเป็นที่มาของบทความสำรวจสนามของความสัมพันธ์บริเวณพื้นมหาสมุทรชิ้นนี้

มานุษยวิทยามหาสมุทร: Thalassoanthropology
“มานุษยวิทยามหาสมุทร” จะเป็นการศึกษาและอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาใหม่ในมานุษยวิทยา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการหันมาสนใจโลกหลังมนุษยนิยมและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศขนานใหญ่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ งานชิ้นนี้มุ่งไปที่การศึกษาทำความเข้าใจโลกของมหาสมุทรโดยเฉพาะโลกใต้ท้องทะเล ที่ผ่านมาในทางสังคมศาสตร์ การศึกษาเกี่ยวกับโลกของท้องทะเลนั้นยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิธีคิดที่เอาวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์และพื้นพิภพ (terrestriality) มาเป็นศูนย์กลางของการพินิจพิจารณาโลก การเขยิบความสนใจพื้นพิภพมาให้ความสำคัญกับมหาสมุทรอย่างจริงจังนั้นทำให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้ว อาณาบริเวณเชิงนิเวศแห่งนี้มีความสัมพันธ์กับจุดกำเนิด การดำรงชีวิต และอนาคตของมนุษย์มากกกว่าที่เราเคยเข้าใจ

Making sense of the underwater world
การดำน้ำไม่เพียงแต่ทำให้เรามีประสบการณ์ตรงกับสายระโยงระยางที่พันอยู่รอบตัวเราอย่างกับหนวดปลาหมึก หนวดปลาหมึกของชุดดำน้ำเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยขยายการรับรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศใต้ท้องทะเลให้กับเรามากขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังเปิดโอกาสให้เราได้ลองคิดและเผชิญกับโลกใต้น้ำอย่างหนวดปลาหมึกด้วย
การคิดอย่างหนวดปลาหมึก จึงหมายถึงการตระหนักความสัมพันธ์ที่โยงใยและละเอียดอ่อนที่เรามีร่วมกันกับสิ่งอื่น ๆ รอบตัว ตลอดจนการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ ให้ได้ ภายใต้ข้อจำกัดและสภาวการณ์ที่เราไม่คุ้นเคยนั่นเอง