Water Wars โดย ประสพสุข เลิศวิริยะพิสิฐ

ได้ไปดูนิทรรศการ Water and Alteration ที่ BACC ชอบผลงานหลายชิ้นมาก

วันนี้โพสต์ชิ้นที่ชอบที่สุดก่อน คือ Water Wars ของ ประสพสุข เลิศวิริยะพิสิฐ ที่ชวนให้คิดถึงสงครามในทะเลของมวลขยะ วัสดุแห่งความทรงจำ และความหนืดหน่วงของวัตถุที่ไม่ยอมย่อยสลาย

ในผืนพลาสติกขนาด 200 x 180 ซม. ที่เต็มไปด้วยเศษวัสดุจากทะเลและครัวเรือน ประสพสุขได้ถัดทอเรื่องราวของสงครามใต้ผิวน้ำ ผ่านงานศิลปะจัดวาง (assemblage textile) ที่ทั้งสวยงามและสะเทือนใจไปพร้อมๆ กัน Water Wars ของเธอไม่ได้เป็นเพียงการแสดงภาพนิเวศวิทยาทะเลที่ถูกคุกคาม แต่คือการซ้อนทับของความทรงจำ ขยะ มลภาวะ และความพยายามของมนุษย์ที่จะเข้าใจโลกหลังมนุษย์ (posthuman ecology) งานชิ้นนี้สื่อสารผ่านวัตถุ—จากรองเท้าแตะ เศษแหอวน ของเล่นเด็ก ปะการังเทียม จนถึงเศษพลาสติกที่พันกันยุ่งเหยิง—ทั้งหมดกลายเป็นองค์ประกอบของทะเลสมมุติที่ดูมีชีวิตชีวา แต่ขณะเดียวกันก็น่าเวทนาไปพร้อมกัน

การใช้วัสดุเหลือใช้ที่เก็บจากทะเลและบ้านเรือน เป็น artistic practice ที่ไม่ใช่เพียงรูปแบบทางเทคนิค แต่คือการเมืองของการผลิตซ้ำ (reproduction) และการเล่าเรื่อง (articulation) ที่น่าสนใจ ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยการผลิตขยะอย่างไม่หยุดยั้ง พลาสติกในงานกลายเป็นตัวแทนของสงครามเงียบๆ ระหว่างวัตถุ—ไม่ใช่สงครามแบบโจ่งครึ่มด้วยระเบิดใต้น้ำหรือเรือรบ แต่เป็นสงครามทางนิเวศ ที่ซ่อนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ การบริโภค และนโยบายพัฒนาของมนุษย์ การวางขยะให้เป็นปลา ปะการัง ฟองคลื่น หรือดอกไม้ทะเล คือการย้อนรอยความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตที่ว่านี้ ที่ไม่เคยแยกจากกันในโลกจริงของท้องทะเล

ในเชิงสุนทรียะ งานชิ้นนี้ทำให้ผมเองรู้สึกในแบบที่เรียกว่า tactile unease—ความรู้สึกอยากสัมผัสแต่ก็รู้สึกไม่สบายใจต่อสิ่งที่ได้เห็น สีสันฉูดฉาดของพลาสติกปะทะกับพื้นพลาสติกใส ทำให้เราตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของวัตถุเหล่านี้ในธรรมชาติว่ามันงดงามหรือเสื่อมทรามกันแน่ ศิลปินไม่ได้พยายามจำลองโลกใต้ทะเลแบบที่เราเคยเห็นในสารคดี แต่เสนอภววิทยาแบบใหม่ของทะเล ที่เต็มไปด้วยเศษซาก การคงสภาพแบบยากต่อการย่อยสลาย และการอยู่ร่วมแบบไม่มีทางเลือก งานนี้จึงสื่อถึงแนวคิด living in the ruins หรือ การอยู่ร่วมกับความพังทลายในบริบทของโลกหลังสิ่งแวดล้อม

Water Wars ไม่ได้เพียงสะท้อนความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการท้าทายการรับรู้ของผู้ชมถึงสิ่งที่เรียกว่า "มหรรณพ" หรือท้องทะเลในยุคที่เทคโนโลยี เศษขยะ และนิเวศได้กลายเป็นโครงสร้างเดียวกัน ศิลปินไม่ได้สร้างเพียงภาพนูนต่ำที่แน่นิ่ง แต่ชวนเราเข้าสู่บทสนทนา—ระหว่างมนุษย์กับทะเล ระหว่างอดีตกับอนาคต และระหว่างสิ่งที่ถูกมองว่าไร้ค่ากับพลังของการเล่าเรื่องผ่านเศษซากที่ยังมีชีวิตอยู่

Previous
Previous

Can Coral Vote? : Reading Playground Amid Oceanic Futures and the Thai Pearl Necklace Project

Next
Next

Prachatai Podcast มานุษยวิทยามหาสมุทร: เพราะโลกไม่ได้หมุนรอบตัวใคร